เรื่องของ..มาลัย

ความหมายของมาลัย
          มาลัย  หมายถึง ดอกไม้ประดิษฐ์แบบไทยลักษณะหนึ่ง โดยการนำดอกไม้ กลีบดอกไม้ ใบไม้ และส่วนต่างๆ ของดอกไม้ที่ร้อยได้ มาร้อยเป็นพวง มีลักษณะต่างๆ กันมากมายหลายแบบ ตั้งแต่แบบดั้งเดิมจนถึงแบบสมัยใหม่ ซึ่งก็ดัดแปลงมาจากแบบดั้งเดิมนั่นเอง
 

มาลัยแ่บ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
          1. แบ่งตามหน้าที่ใช้สอย ได้แก่ มาลัยชายเดียว ใช้สำหรับคล้องมือ คล้องแขน หรือบูชาพระ มาลัยสองชาย ใช้สำหรับคล้องคอ แขวนหน้ารถ หรือแขวนหัวเรือ และ มาลัยของชำร่วย ใช้มอบตอบแทนเป็นการขอบคุณแขกที่มาร่วมงานนั้นๆ
          2. แบ่งตามลักษณะรูปแบบของการร้อย ได้แก่ มาลัยซีกหรือมาลัยเสี้ยว มาลัยกลม มาลัยแบน มาลัยรี มาลัยสามเหลี่ยม มาลัยสี่เหลี่ยม มาลัยตุ้ม มาลัยตัวหนอน มาลัยตัวหนอนคู่ มาลัยสามกษัตริย์ และมาลัยพวงดอกไม้
          3. แบ่งตามลักษณะโครงร่างโดยทั่วไป ได้แก่ มาลัยตัวสัตว์ มาลัยลูกโซ่ มาลัยเปีย มาลัยเถา มาลัยครุย และมาลัยดอกกล้วยไม้ 


เช่น..มาลัย ดังนี้
          มาลัยชายเดียว เป็นมาลัยที่มีลักษณะเป็นพวงกลม มีอุบะห้อยลงมาเป็นชายเพียงจุดเดียว อาจเรียกว่า มาลัยมือ หรือมาลัยคล้องแขน ถ้าใช้ในการทูลเกล้าฯ ถวายจะเรียกว่า มาลัยข้อพระกร นอกจากนี้ ยังใช้บูชาพระ หรือไหว้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
          มาลัยสองชาย น่าจะเป็นมาลัยที่เราๆ ท่านๆ ค่อนข้างคุ้นเคยกันในชีวิตประจำวัน แต่อาจจะไม่ได้วิจิตร ตระการตาทัดเทียมมาลัยที่ใช้ในพิธีแต่งงานเท่านั้น เป็นมาลัยกลมที่ผูกต่อกับริบบิ้น ทิ้งชายห้อยลงมาเป็นอุบะสองเส้น มักเรียกกันว่ามาลัยคล้องคอมากกว่า ใช้สำหรับคล้องคอบุคคลสำคัญในงานนั้น 
          มาลัยชำร่วย เพื่อให้สมชื่อมาลัยของชำร่วย จึงเป็นมาลัยที่มีขนาดพวงเล็ก กระจุ๋มกระจิ๋ม เพื่อให้แขกเหรื่อถือติดมือได้สะดวก เป็นมาลัยตุ้มที่ร้อยให้มีลักษณะตามขวางเป็นวงกลมขนาดเล็ก ค่อยๆ ใหญ่ขึ้นทีละน้อย ช่วงกลางป่องโค้งมนแล้วค่อยๆ ลดให้เล็กลงจนมีขนาดเท่ากันตอนขึ้นต้น สรุปง่ายๆ ว่าเป็นมาลัยที่หัวท้ายเรียวช่วงกลางป่องนั่นเอง
          มาลัยตัวสัตว์ นิยมนำดอกไม้มาร้อยให้เป็นรูปร่างคล้ายตัวสัตว์ที่ดูน่ารัก น่าเอ็นดู เช่น หนู กระรอก กระแต กระต่าย ชะนี เป็นต้น

ประโยชน์ของมาลัย
         มาลัยมีมากมายหลายชนิด  แต่ละชนิดก็มีหน้าที่ใช้สอยต่าง ๆ กันไปตามโอกาสและความเหมาะสม  ดังนั้นก็จะกล่าวรวม ๆ กัน  มาลัยชนิดต่าง ๆ มีประโยชน์ดังนี้คือ
         1.ใช้สำหรับคล้องคอ เช่น คล้องคอเจ้าบ่าว-เจ้าสาว  ในงานแต่งงาน  การแสดงความยินดีหรือต้อนรับแขก  หรือเป็นเกียรติแก่ผู้มีชัยชนะในการประกวดต่าง ๆ  หรือสำหรับมอบให้กับบุคคลผู้มีชื่อเสียง  เพื่อเป็นการรับขวัญ  หรือเพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งความรักและศรัทธา  ความนิยมชมชอบ  เช่น  บุคคลสำคัญ  บุคคลดีเด่น  หรือดาราที่เป็นขวัญใจประชาชน  
        2.ใช้สำหรับทูลเกล้าฯ  ถวายในการรับเสด็จในการเข้าเฝ้าตามโอกาสที่เหมาะสม  ส่วนใหญ่ก็นิยมใช้มาลัยคล้องมือ  ที่เรียกว่า  มาลัยข้อพระกร  หรือใช้สำหรับมอบให้แก่ประธานหรือแขกผู้ใหญ่ในงาน  เช่น  งานรดน้ำสังข์แก่คู่บ่าวสาว  งานมอบประกาศนียบัตร  งานมอบทุนต่าง ๆ  ซึ่งมักจะใช้มาลัยคล้องมือหรือมาลัยมือถือ
         3.ใช้สำหรับเป็นของชำร่วยแก่แขกที่มาในงาน  เช่น  งานรดน้ำสังข์แก่คู่บ่าวสาวในงานมงคลสมรสที่นิยมใช้คือ  มาลัยชำร่วยขนาดเล็กกระจุ๋มกระจิ๋มหรือมาลัยตัวสัตว์ขนาดเล็กก็น่ารักและสวยงามดี
         4.ใช้ห้อยแทนเฟื่องดอกรัก  เช่น  มาลัยแบน  มาลัยกลม  มาลัยตัวหนอน  และมาลัยรี
         5.ใช้บูชาพระพุทธรูปหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ  เช่น  มาลัยชายเดียว  หรือมาลัยสองชาย   จะใช้ขนาดพวงเล็กใหญ่ขนาดใดย่อมแล้วแต่ความเหมาะสมเป็นสำคัญ
         6.ใช้แขวนหรือห้อยประดับเครื่องดนตรีไทยในเวลาที่จะเล่น  นอกจากนั้นยังเป็นการกราบระลึกถึงครูบาอาจารย์ผู้ที่ให้ความรู้และอีกประการหนึ่งก็เป็นมิ่งขวัญกำลังใจอีกด้วย  ที่นิยมใช้ก็คือมาลัยซีก  หรือมาลัยกลมขนาดเล็กมีอุบะห้อยเป็นชาย
         7.ใช้ในการประกอบท่ารำของการรำไทยบางชุด  เช่น  ฟ้อนมาลัย  รจนาเสี่ยงพวงมาลัย  หรือชุดเจ้าเงาะรจนา  ฯลฯ  ซึ่งก็นิยมใช้มาลัยชายเดียวพวงขนาดเล็ก  อาจจะเป็นมาลัยซีกหรือมาลัยกลมก็ได้
         8.ใช้ในพิธีบวงสรวงเทพยดาต่าง ๆ  เช่น  พิธีบวงสรวง  พิธีแก้บน  มักจะนิยมใช้มาลัยชายเดียว  มาลัยสองชาย  หรือมาลัยพวงดอกไม้ก็ได้  เช่น  มาลัยสามสี  มาลัยเจ็ดสีเจ็ดศอก
         9.ใช้สำหรับตกแต่งรัดมวยผม  เช่น  มาลัยซีกดอกมะลิ  หรือมาลัยซีกกลีบกุหลาบ
         10.ใช้ประดิษฐ์เป็นดอกไม้สำหรับจัดแจกัน  หรือจัดตกแต่งสถานที่ต่าง ๆ  เช่น  มาลัยตุ้มใส่ก้านแข็งมาลัยซีกผูกมัดเป็นดอกไม้
         11.ใช้ในการคารวะผู้ที่เคารพนับถือ  ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว  เช่น  ห้อยคล้องกรอบรูป  ซึ่งมักจะนิยมใช้มาลัยสองชายริบบิ้นสีดำหรือขาว
         12.ใช้ในการประดับตกแต่งงานดอกไม้สดต่าง ๆ  เช่น  มาลัยกลม  มาลัยแบน  มาลัยตัวหนอน  มาลัยลูกโซ่  ฯลฯ
         13.ใช้ในการตกแต่งสิ่งต่าง ๆ  บางโอกาส  เช่น  รัดฐานพระพุทธรูป  รัดธูปเทียนแพ  รัดเอวโกศ  ฯลฯ  ส่วนใหญ่นิยมใช้มาลัยซีก  มาลัยกลม  และมาลัยแบน
         14.ใช้แขวนหรือห้อยหน้ารถ   หัวเรือ   รูปปั้นอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ   หรือสิ่งที่เคารพบูชาต่าง  ๆ  ส่วนใหญ่นิยมใช้มาลัยสองชายหรือมาลัยชายเดียว
         15.ใช้ในการตกแต่งประดับเวที  หรือสถานที่ในงานพิธี  เช่น  ตกแต่งเวทีที่ประทับในงานพระราชทานปริญญาบัตร  ตกแต่งโต๊ะอาหารในงานเลี้ยงรับรองพิธีใหญ่  ๆ   ตกแต่งโต๊ะอาหารในงานเลี้ยงฉลองมงคลสมรส  ฯลฯ


ดอกไม้และใบไม้สำหรับร้อยมาลัย         
1. ชนิดของดอกไม้และใบไม้ที่ใช้ร้อยมาลัย
              ดอกไม้ที่ใช้ร้อยทั้งดอก  ได้แก่  ดอกพุดตูม  มะลิตูม  บานไม่รู้โรย  พุทธชาด  ดอกรัก  เล็บมือนาง  เขี้ยวกระแต  ชบาหนู  ประทัด  ฯลฯ
              ดอกไม้ที่ใช้กลีบร้อย  ได้แก่  กุหลาบ  บานบุรี  หงอนไก่  รักเร่  เฟื่องฟ้า  แพงพวย  ฯลฯ
              ใบไม้ที่ใช้ร้อยมาลัย  ได้แก่   ใบกระบือ   ใบโกสน   ใบแก้ว   ใบมะยม   ชบาด่าง   ใบตองอ่อน  กาบพลับพลึง   ใบก้ามปู  ฯลฯ

2. การเก็บรักษาดอกไม้และใบไม
              การเก็บดอกไม้จากต้น  ควรเก็บตอนเช้าตรู่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น  หรือตอนพลบค่ำ  การตัดใบตองควรตัดทิ้งไว้ล่วงหน้าก่อนใช้เพื่อให้ใบตองนิ่ม  โดยผึ่งไว้ในที่ร่ม
              ดอกพุดตูม  ให้ล้างด้วยน้ำแกว่งสารส้ม  ใส่ตะแกรงเกลี่ยไว้ในที่ร่ม
              ดอกกุหลาบ  ตัดก้านกุหลาบเฉียง ๆ  ในน้ำเพื่อช่วยให้ก้านดูดน้ำได้มากขึ้น  ควรใช้กรรไกรคม ๆ  ตัดแล้วห่อก้านด้วยใบตองแช่น้ำที่สะอาด ๆ ไว้วางในที่อากาศโปร่งเย็น  ไม่มีลมโกรก  คอยพรมน้ำอยู่เสมอ
          ดอกรัก  อย่าพรมน้ำ  ใส่ตะแกรงคลุมด้วยผ้าขาวบางที่พรมน้ำพอชื้น
          ดอกพุทธชาดและดอกเขี้ยวกระแต  ห่อรวมกันแน่น ๆ  ใส่กระทงไว้ไม่ต้องพรมน้ำ วางไว้ในที่เย็น
          ดอกบานไม่รู้โรย  ไม่ต้องแก้มัดออก ตัดก้านให้เท่ากันแล้วแช่ก้านไว้ในน้ำ พรมน้ำที่ดอก ใช้ผ้าขาวบางพรมน้ำให้ชุ่มปิดไว้
          ดอกจำปีดอกจำปา เด็ดเกสรข้างในออก ดอกจะไม่บาน ใส่กระทงหรือถ้าต้องการรักษารูปทรงให้เรียงดอกห่อด้วยใบตองแน่นแล้วพรมน้ำ หรือใช้ผ้าขาวบางพรมน้ำคลุมไว้
          ดอกกล้วยไม้  ไม่ควรพรมน้ำที่ดอก  เพราะจะทำให้ดอกเปลี่ยนสี เช่น ดอกแวนด้าสีม่วง จะกลายเป็นสีขาว 


ความสวยงามของมาลัย
         ความสวยงามของมาลัยนั้นย่อมจะต้องขึ้นอยู่กับสิ่งต่อไปนี้
         1.สัดส่วนของมาลัย   มาลัยแต่ละแบบแต่ละชนิดนั้นย่อมมีสัดส่วนที่เฉพาะในพวงนั้น ๆ    ซึ่งไม่อาจกล่าวเป็นตัวเลขที่กำหนดเป็นกฎเกณฑ์ได้ตายตัวแน่นอน    แต่ต้องคำนึงถึงสัดส่วนเป็นสำคัญอันดับแรก  โดยจะต้องคำนึงถึงขนาดของมาลัยต่อความยาวของอุบะ   จำนวนขาของอุบะที่ใช้   ขนาดของมาลัยซีกที่จะใช้รัด   และส่วนประกอบอื่น ๆ ทุกชิ้น   ควรจะต้องได้สัดส่วนกันเสมอจึงจะเกิดความงามได้
         2.สีสันของมาลัย     สีของดอกไม้  ใบไม้ที่ร้อยมาลัยก็เป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งเช่นกัน    ควรจะเป็นสีที่สดใสไม่เศร้าหมอง  ในมาลัยแต่ละชุดแต่ละแบบนั้น    ควรจะใช้สีที่มีความกลมกลืนเข้ากันได้ในบางส่วน   แต่บางส่วนที่ควรจะเน้นให้เกิดจุดเด่น  ก็ควรจะใช้สีที่ตัดกันจะช่วยเพิ่มความน่าดูและสวยงามขึ้นได้อย่างมาก  เช่น  มาลัยที่ร้อยใส่ลวดลายต่าง ๆ  ควรจะเลือกใช้สีที่ตัดกันเพื่อจะได้เน้นลายให้เด่นชัดขึ้นอย่างชัดเจน
         3.ฝีมือการร้อย    ควรจะต้องมีความประณีตตั้งแต่การตัดกลีบ  ( สำหรับดอกไม้ ใบไม้บางชนิด )  การพับกลีบ  การส่งกลีบ  การร้อยเรียงลำดับได้เรียบเสมอกัน  การผูกมัดไว้ให้เรียบร้อย  สิ่งเหล่านี้ถ้าทำด้วยความประณีตจะทำให้เกิดความสวยงามได้อีกประการหนึ่งเช่นกัน
         4.ความสดของดอกไม้    ดอกไม้หรือใบไม้ที่ใช้ในการร้อยมาลัย    ควรจะต้องสดและใหม่อยู่เสมอ  ควรได้รับการดูแลรักษาที่ดีอย่างถูกต้องตามธรรมชาติของดอกไม้ชนิดนั้น ๆ ด้วย  ควรหลีกเลี่ยงการจับต้องอย่างแรง  และในระหว่างการร้อยมาลัยนั้นก็ควรจับต้องดอกไม้  ใบไม้อย่างเบามือ  เพื่อจะได้ไม่เกิดรอยช้ำเหี่ยวเฉาง่าย    สามารถจะคงความสดอยู่ได้นานเท่าที่ควร

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุบะ..มาลัย

มาลัยตุ้ม

มาลัยแบน